6 สัญญาณเตือนโรคไต และวิธีป้องกันก่อนไตเสื่อมสภาพไต เปรียบเสมือนเครื่องกรองของร่างกาย ทำหน้าที่กำจัดของเสียและรักษาสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย แต่เมื่อไตทำงานผิดปกติจะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมอย่างมาก ดังนั้นการดูแลไตจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้ไตคงสภาพการทำงานต่อไปได้ตามปกติ ในบทความนี้จะพาไปรู้จักกับสาเหตุ อาการสัญญาณเตือนของโรคไต และการป้องกันที่ควรรู้ !
สาเหตุการเกิดโรคไต
โรคไต หมายถึง ภาวะที่ไตทำงานน้อยลง หรือทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ไม่สามารถกรองของเสีย เกลือแร่ และน้ำ ออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดอาการป่วยได้ โดยโรคไตที่มักพบบ่อย เช่น ไตวาย ไตอักเสบ กรวยไตอักเสบ และนิ่วในไต โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ดังนี้
อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป อวัยวะไตจะเริ่มเสื่อม
โรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง
กรรมพันธุ์ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคไต
เคยมีประวัติการเป็นโรคไตอักเสบ หรือถุงน้ำในไต
ผู้ที่ชอบกินอาหารรสจัด
การกินอาหารที่มีโซเดียมสูง
มีความเครียดสะสม
ไม่ชอบออกกำลังกาย
การได้รับยาในกลุ่มยาแก้ปวดข้อหรือยาแก้ข้ออักเสบ NSAIDs เช่น แอสไพริน, ไอบูโพรเฟน, ไดโคลฟีแน็ก, นาพร็อกเซน, ไพร็อกซิแคม ติดต่อกันเป็นเวลานาน
ประเภทของโรคไต
โรคไตวายเฉียบพลัน : ภาวะไตทำงานผิดปกติอย่างเฉียบพลัน มักเกิดจากการติดเชื้อ อุดกั้นทางเดินปัสสาวะ หรือได้รับยาบางชนิด สามารถเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน และมีโอกาสรักษาให้หายได้
โรคไตวายเรื้อรัง : ภาวะไตเสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ มักเกิดจากโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ สามารถเกิดขึ้นในระยะเวลามากกว่า 3 เดือนขึ้นไป และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ รวมถึงอาจต้องได้รับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต
6 อาการสัญญาณเตือนของโรคไตที่ไม่ควรมองข้าม
ขอชวนทุกคนมารู้ทันกับ 6 สัญญาณเตือนเมื่อเป็นโรคไตเสื่อมสภาพ หรือไตมีความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ ในระยะแรก ซึ่งหากได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
อาการบวมต่าง ๆ เช่น ใบหน้า หนังตา ขา และเท้า
ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะมีเลือดเจือปน ปัสสาวะมีฟอง ปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยกว่าปกติ
ร่างกายซูบผอมเนื่องจากน้ำหนักที่ลดลง
อาการปวดบริเวณเอว หรือปวดหลังมากผิดปกติ
อาการคลื่นไส้ อาเจียนมาก เบื่ออาหาร
พบก้อนเนื้อเมื่อลูบคลำบริเวณไต
ดูแลสุขภาพให้ดี ป้องกันการเกิดโรคไต
โรคไต เป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยและร้ายแรง แต่สามารถปกป้องไตของเราได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้
ให้ความสนใจกับสุขภาพมากขึ้น หมั่นเข้ารับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี หากพบความผิดปกติ จะรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
ควรบริโภคอาหารให้ครบ 3 มื้อ และเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ที่ผ่านการปรุงสุก และสะอาดอยู่เสมอ เพื่อชะลอการเสื่อมของไต
หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง อาหารแปรรูป และอาหารรสจัด เพื่อไม่ให้ไตทำงานหนัก
ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 1.5-2 ลิตร หรือ 6-8 แก้วต่อวัน เพื่อช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ราบรื่น และช่วยกรองสารพิษออกจากเลือด
หาเวลาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการกำจัดของเสียที่สะสมในเลือด และกระบวนการเผาผลาญให้ทำงานได้ดีขึ้น
หลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวดต้านการอักเสบที่มีพิษต่อไต ที่จะไปเร่งให้การทำงานของไตเสื่อมลง
หากป่วยเป็นโรคไต ค่าการรักษาต้องเตรียมเงินเท่าไร ?
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ในบางรายที่ไตเสื่อมสภาพมากจำเป็นต้องฟอกไตไปตลอดชีวิต ทำให้ค่าใช้จ่ายบานปลายได้ เช่น ค่าฟอกเลือด ครั้งแรก 3,400 บาท ครั้งต่อไป 2,200 บาท/ครั้ง หากฟอกเลือดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 2,200 บาท ต้องจ่ายเดือนละ 8,800 บาท หรือในกรณีที่ต้องฟอกเลือดสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ต้องจ่ายถึงเดือนละ 26,400 บาท !
สำหรับผู้ป่วยโรคไตวายเฉียบพลันสามารถรักษาด้วยการแก้ไขสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน อาทิ การรักษาที่ต้นเหตุ เช่น การหยุดยาที่เป็นสาเหตุ การรักษาด้วยการควบคุมน้ำเข้าออกในร่างกาย หรือการควบคุมปริมาณสารอาหารที่เหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่หากรักษาได้ทันท่วงที ไตก็จะกลับมาทำงานได้เหมือนปกติหรือใกล้เคียงปกติ
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคไตวายเฉียบพลันที่อยู่ในภาวะวิกฤตซึ่งจำเป็นต้องมีการฟอกเลือดล้างไต จะมีค่าใช้จ่ายโดยประมาณครั้งละ 3,500 บาท โดยระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์