โรคหัวใจกับเรื่องที่คุณไม่เคยรู้มีหลายคำถามเกี่ยวกับโรคหัวใจที่คุณอยากรู้ แต่คุณอาจไม่เคยรู้คำตอบที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเรื่องหัวใจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด ใส่ใจและเข้าใจเรื่องหัวใจจะได้รู้เท่าทันโรคหัวใจ
หัวใจเป็นมะเร็งได้หรือไม่
หัวใจมีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ขณะเดียวกันก็นำเลือดกลับมาฟอกที่ปอด ทำให้เลือดต้องผ่านเข้าออกหัวใจตลอดเวลา โอกาสที่หัวใจจะเป็นมะเร็งนั้นค่อนข้างน้อยหรือน้อยมาก ๆ แต่มีอันตรายรุนแรงมากสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่จะเป็นมะเร็งชนิดอื่นก่อนกระจายมาที่หัวใจ เช่น มะเร็งตับ มะเร็งไต มะเร็งปอด เป็นต้น การรักษามะเร็งหัวใจที่เห็นผลคือการผ่าตัดเอามะเร็งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตามหากมีอาการผิดปกติอย่างเหนื่อยง่าย หอบ ไข้ต่ำ หน้าบวม คอบวม ตับโต ขากดบุ๋ม ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางหัวใจเพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียด
เจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจต่างจากเจ็บหน้าอกจากโรคอื่นอย่างไร
อาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจมีความรุนแรงมากที่สุดโดยเฉพาะถ้าหลอดเลือดหัวใจตีบอาการเจ็บหน้าอกจะแสดงออกมาชัดเจน โดยลักษณะเฉพาะของโรคหัวใจคือเจ็บหน้าอกตอนที่ออกแรง อย่างเดินขึ้นบันได การออกแรงมากกว่าในชีวิตประจำวัน ดังนั้นเมื่อไรที่ออกแรงแล้วมีอาการเจ็บขึ้นมาให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่าอาจเป็นโรคหัวใจ นอกจากเจ็บหน้าอกเพราะโรคหัวใจแล้ว โรคอื่นที่มีอาการเจ็บหน้าอกคล้ายกัน เช่น เจ็บหน้าอกจากอาการแสบร้อนที่หน้าอกหรือลิ้นปี่ กล้ามเนื้อหน้าอกฉีก โรคเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นต้น
ของหวานทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบได้จริงไหม
ถ้าเทียบความอันตรายของไขมันกับน้ำตาล หากไขมันสูงจะเข้าไปสะสมในหลอดเลือด แต่ในกรณีของน้ำตาลแม้ไม่ได้เข้าไปสะสมในหลอดเลือดโดยตรง แต่น้ำตาลเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการสะสมของคราบไขมันหรือความอักเสบของหลอดเลือดให้สูงขึ้น เมื่อน้ำตาลเข้าไปในร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนอินซูลินเพื่อลดระดับน้ำตาลไม่ให้น้ำตาลเป็นพิษหรือเกิดหลอดเลือดอักเสบ ดังนั้นในผู้ป่วยเบาหวานที่อินซูลินทำงานน้อยมากหรือทำงานไม่ได้ เมื่อรับประทานของหวานแม้จะเล็กน้อย ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นและไม่ลดลงเพราะไม่มีอินซูลิน เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก หลอดเลือดจะเกิดการอักเสบอย่างรวดเร็วและมีไขมันสูงมาพอกหลอดเลือด ทำให้เป็นอันตรายต่อหัวใจ
ออกกำลังกายเหนื่อยแบบไหนเสี่ยงโรคหัวใจ
หากสุขภาพหัวใจปกติเลือดสามารถเข้าไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของหัวใจได้เพียงพอตลอดเวลา ไม่ว่าจะออกกำลังกายเหนื่อยแค่ไหนก็ยังสามารถออกกำลังกายต่อได้ แต่ลดความหนักเบาของการออกกำลังลง แต่หากป่วยด้วยโรคหัวใจ เช่นในกรณีที่เป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจไม่ได้ทำงานเต็มที่ตลอดเวลา อาจจะทำงานได้ประมาณ 50% – 60% ของการทำงานของหัวใจที่ควรทำได้ ในการใช้ชีวิตตามปกติ เช่น การเดินจะไม่เกิดปัญหา แต่เมื่อไรที่ทำกิจกรรมที่ออกแรงมากกว่าปกติ โดยเฉพาะการออกกำลังกายหนักแบบคาร์ดิโอจะรู้สึกเหนื่อยมาก ฝืนมาก และเจ็บหน้าอก หากอาการของโรคหัวใจมากขึ้น แม้ไม่ออกแรงเยอะก็จะรู้สึกเหนื่อยง่าย ยกตัวอย่างเช่น จากที่เดินได้ 1 กิโลเมตรอาจลดลงเป็น 500 เมตร จากที่ขึ้นบันไดชั้น 1 ไปชั้น 2 โดยไม่พัก กลายเป็นขึ้นบันไดไม่กี่ขั้นก็ต้องหยุดพัก เป็นต้น เรียกได้ว่ากิจกรรมที่ต้องออกแรงจะลดลงเรื่อย ๆ จนไม่อยากทำกิจกรรม เป็นสัญญาณของโรคหัวใจที่ควรต้องพบแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจโดยเร็วที่สุด
ป่วยเป็นโรคหัวใจมีเซ็กส์ได้ไหม
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าการมีเซ็กส์ไม่ใช่กิจกรรมทั่วไป แต่เป็นกิจกรรมที่มีการออกแรงเหนื่อยเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง ซึ่งการพิจารณาความหนักเบาในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจจะพิจารณาการใช้ค่าปริมาณออกซิเจนสูงสุดที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ หรือ ค่า METs (Metabolic Equivalents) เทียบระดับความหนักเบากับระดับความสามารถของผู้ป่วย ซึ่ง 1 MET มีค่าเท่ากับการใช้ออกซิเจนของร่างกายขณะพัก 3.5 มิลลิลิตรออกซิเจน/กิโลกรัม/นาที โดยทั่วไปค่าเฉลี่ยการมีเซ็กส์จะเทียบเท่ากับ 7 METs หรือเทียบเท่าการปั่นจักรยานหรือเดินบนลู่วิ่งที่ชันในระดับหนึ่ง ดังนั้นผู้ป่วยโรคหัวใจจะมีเซ็กส์ได้ต้องทดสอบตัวเอง ถ้าเดินขึ้นบันไดหรือเดินบนลู่วิ่งที่ชันในระดับหนึ่งได้ก็ไม่เป็นปัญหา แนะนำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจเพื่อให้มีเซ็กส์แบบไม่ต้องกังวลและป้องกันความรุนแรงของโรคที่อาจตามมา
ทำไมผู้ป่วยโรคหัวใจต้องระวังฟันผุ
ความจริงแล้วไม่ใช่ผู้ป่วยโรคหัวใจทุกคนที่ต้องระวังฟันผุ แต่ในคนที่พยาธิสภาพลิ้นหัวใจมีปัญหา เช่น ผู้ที่เคยผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือผู้ป่วยที่ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท หากแบคทีเรียเข้าไปในกระแสเลือดจะเข้าไปเกาะลิ้นหัวใจที่มีปัญหา ทำให้ลิ้นหัวใจเกิดการติดเชื้อและรั่วเพิ่มขึ้นจนรุนแรงและอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ดังนั้นการรักษาสุขภาพฟันและช่องปากให้แข็งแรงจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรละเลย เพราะช่วยลดความเสี่ยงจากแบคทีเรียจากฟันผุที่อาจเกิดขึ้นได้แบบไม่คาดคิด
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยบำรุงหัวใจจริงไหม
การดื่มแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยแม้อาจช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว แต่ส่วนใหญ่ยากที่จะควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ให้เหมาะสมได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคหัวใจ แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจไม่เคยแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มแอลกอฮอล์ แต่หากไม่สามารถเลิกดื่มได้ การดื่มมาตรฐาน (Standard Drink) คือการดื่มแบบพอประมาณ (Moderate Drinking) ต้องรู้วิธีการดื่มแบบไม่ทำร้ายสุขภาพ ส่วนในผู้ที่ไม่เคยดื่มไม่แนะนำให้ดื่มเลยจะดีที่สุด เพราะไม่ว่าจะมากหรือน้อยแอลกอฮอล์ก็ส่งผลเสียต่อหัวใจ สมอง และอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ใส่ขดลวดถ่างขยาย (Stent) หรือใส่ลิ้นหัวใจเทียมขึ้นเครื่องบินได้หรือไม่
ในกรณีของผู้ป่วยโรคหัวใจที่ใส่ขดลวดถ่างขยาย (Stent) เพื่อเสริมความแข็งแรงในการขยายหลอดเลือดหัวใจ หรือใส่ลิ้นหัวใจเทียมสามารถผ่านเครื่องตรวจจับโลหะและเครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI ได้ตามปกติ เพราะวัสดุที่ใช้ไม่ได้มีการเหนี่ยวนำไฟฟ้า แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคหัวใจใส่ครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Permanent Pacemaker – PPM) บริเวณหน้าอกเพื่อกระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจจำเป็นจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สนามบินก่อนขึ้นเครื่องบินทุกครั้ง เพราะอาจตอบสนองต่อเครื่องตรวจจับโลหะจึงควรเข้าช่องทางเฉพาะที่สนามบินจัดไว้
เวลาที่ผู้ป่วยโรคหัวใจเจ็บหน้าอกใช้ยาอะไร
ผู้ป่วยโรคหัวใจเวลาที่หลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันจากการที่เส้นเลือดอุดตันหรือไขมันอุดตันเส้นเลือด หลอดเลือดจะเกิดการหดตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก จึงจำเป็นต้องรับประทานยาขยายหลอดเลือด โดยฤทธิ์ของยาเมื่ออมใต้ลิ้นจะเข้าไปขยายหลอดเลือด บรรเทาอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้นในขณะนั้น หลังจากนั้นต้องรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจเพื่อพิจารณาการรักษาในขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตามยาสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรซื้อมารับประทานเองโดยเด็ดขาดต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น