เที่ยววัด ไหว้พระ 9 วัด กรุงเทพ ริมแม่น้ำ ขอพร เสริมดวง ตามคติความเชื่อของไทยเราชวนมา เที่ยวกรุงเทพ ทำบุญ ไหว้พระ 9 วัดในกรุงเทพ ริมแม่น้ำ เพื่อสิริมงคล ขอพร เสริมดวง ไหว้พระ ในวันหยุดนี้ ตามคติความเชื่อของคนไทยต่อทั้ง 9 วัด ที่เล่าต่อๆ กันมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันนี้ค่ะ ไหว้พระกรุงเทพ วัดไหนดี เช็กลิสต์ตามนี้ได้เลยค่ะ
ไหว้พระเสริมดวง ที่ไหนดี
1. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
คติความเชื่อ : เดินทางปลอดภัยมีมิตรไมตรีที่ดี
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดย เจ้าพระยานิกรบดินทร (โต) สมุหนายก (โต กัลยาณมิตร) ในปี พ.ศ.2368 ค่ะ วัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอก สำหรับการไปไหว้พระที่วัดนี้จะมีคติอยู่ว่า "เดินทางปลอดภัยมีมิตรไมตรีที่ดี" นั่นเองค่ะ
เมื่อเข้ามาในวัดแล้ว ควรจุดธูปเทียนบูชาพระก่อน ตามลำดับที่ทางวัดตั้งไว้ แล้วจึงเดินเข้าไปภายในพระวิหารหลวง เพื่อกราบนมัสการ หลวงพ่อโต หรือ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือเรียกตามแบบจีนว่า หลวงพ่อซำปอกง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยองค์ใหญ่ซึ่งมีแค่ที่วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารแห่งนี้ และอีก 2 ที่คือ วัดพนัญเชิง พระนครศรีอยุธยา และ วัดอุภัยภาติการาม ฉะเชิงเทรา 3 วัดเท่านั้นในประเทศไทย
ดูเพิ่มเติมที่ สักการะ หลวงพ่อโต ซำปอกง วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดศักดิ์สิทธิ์ ในกรุงเทพ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่อยู่ : ซอยอรุณอมรินทร์ 6 ถนนอรุณอมรินทร์ เเขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ
เปิดให้เข้าชม : 07.00-17.00 น.
เว็บไซต์ : -
2. วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร
คติความเชื่อ : ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน
เป็นที่รู้กันอยู่ค่ะว่า มาไหว้พระ 9 วัดครั้งไหนๆ ก็ต้องมาที่ วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร หรือ วัดแจ้ง ด้วยทุกครั้งไป เพราะคนไทยเรามีคติความเชื่อที่ว่า การมาไหว้พระวัดอรุณนั้น จะทำให้ "ชีวิตรุ่งโรจน์ทุกคืนวัน" นั่นเองค่ะ
วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ว่ากันว่าเดิมเรียกว่า วัดมะกอกนอก ที่ชื่อ วัดแจ้ง นั้น เพราะมีความเชื่อที่ว่า ตอนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทำศึกเสร็จแล้วยกทัพกลับมาพระนคร ถึงวัดอรุณเป็นเวลาเช้าพอดีนั่นเอง แม้เป็นความเชื่อที่แพร่หลาย แต่ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเพลงยาวหม่อมภิมเสน วรรณกรรมสมัยอยุธยาที่บรรยายการเดินทางจากอยุธยาไปยังเพชรบุรี ได้ระบุชื่อวัดนี้ไว้ว่าชื่อวัดแจ้งมาตั้งแต่ช่วงเวลานั้นแล้วค่ะ
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณ และอัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 2 มาบรรจุที่พุทธอาสน์ของพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในอุโบสถ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม” ที่นี่จึงได้ถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 อีกด้วยค่ะ
ที่อยู่ : ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
เปิดให้เข้าชม : 08.00-18.00 น.
3. วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
คติความเชื่อ : มีชื่อเสียงโด่งดัง คนนิยมชมชอบ
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาค่ะ เดิมมีชื่อว่า วัดบางว้าใหญ่ ที่นี่เป็นวัดอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี (สา) พระเชษฐภคินีของรัชกาลที่ 1 ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดร่วมกัน และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางว้าใหญ่ 5 ลูก จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดระฆังโฆสิตาราม" นั่นเองค่ะ
และเมื่อเอ่ยถึงวัดระฆัง หลายๆ คนต้องนึกถึง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระมหาเถระรูปสำคัญ ที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างมากในประเทศไทย ซึ่งท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ค่ะ
สำหรับวัดระฆังโฆสิตารามนั้น คนนิยมมากราบไหว้บูชา ปล่อยนกปล่อยปลาที่นี่ค่ะ ด้วยคติและความเชื่อที่ว่า มาทำบุญที่วัดระฆัง จะทำให้ "มีชื่อเสียงโด่งดัง คนนิยมชมชอบ" นั่นเอง
ที่อยู่ : ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
เปิดให้เข้าชม : 08.00-18.00 น.
4. วัดอมรินทรารามวรวิหาร
คติความเชื่อ : พระอินทร์ประทานพรให้ปลอดภัยจากอันตรายใดๆ ทั้งปวง
วัดอมรินทราราม วรวิหาร สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2200 ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง เดิมทีมีชื่อวัดว่า วัดบางว้าน้อย ตั้งคู่กับ วัดบางว้าใหญ่ หรือ วัดระฆังโฆสิตาราม นั่นเอง อีกทั้งคนไทยเรามีคติความเชื่อที่สืบต่อกันว่า การมาไหว้พระที่ วัดอมรินทราราม วรวิหาร จะทำให้ "พระอินทร์ประทานพรให้ปลอดภัยจากอันตรายใดๆ ทั้งปวง" อีกด้วยค่ะ
จุดที่น่าสนใจภายในวัดอยู่ที่ วิหารหลวงพ่อโบสถ์น้อย ซึ่งมีพระประธานคือ หลวงพ่อโบสถ์น้อย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบสุโขทัย ปางมารวิชัยลงรักปิดทอง เป็นสถานที่ที่ผู้คนนิยมมากราบสักการะขอพรจากหลวงพ่อกันเป็นจำนวนมาก
ด้วยความศักดิ์สิทธ์ของหลวงพ่อตั้งแต่ในครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่ระเบิดลง ภายในวัดนี้เสียหายพังพินาศหมด เนื่องจากวัดอยู่ติดกับสถานีรถไฟพอดี คงเหลือไว้แต่เพียงวิหารหลวงพ่อโบสถ์น้อย และมณฑปพระพุทธบาทจำลอง ที่รอดพ้นภัยมาได้ แต่ด้วยแรงระเบิดจึงทำให้เศียรของหลวงพ่อร้าว แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรหลวงพ่อโบสถ์น้อยได้นั่นเองค่ะ
ที่อยู่ : ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
เปิดให้เข้าชม : 08.00-17.00 น.
เว็บไซต์ : -
5. วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร
คติความเชื่อ : มีความศักดิ์สิทธิ์และดลบันดาลให้สมประสงค์
วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตกค่ะ เป็นวัดสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมชื่อว่า วัดทอง ต่อมารัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม และพระราชทานนามว่า "วัดสุวรรณาราม"
วัดสุวรรณาราม นี้เคยปรากฏในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงธนบุรีว่า คราวที่พม่ายกกองทัพมาตีเมืองพิษณุโลก พระเจ้าตากสินมหาราชจะยกกองทัพไปช่วย จึงโปรดให้ถามเชลยศึกพม่าที่จับมาได้จากค่ายบางแก้วว่าจะสมัครใจไปช่วยรบพม่าด้วยหรือไม่ แต่เชลยศึกพม่าตอบปฎิเสธ พระเจ้าตากสินจึงจับเชลยศึกพม่าจากค่ายบางแก้วไปประหารชีวิตทั้งหมดใกล้ๆ วัด
อีกทั้งยังมีเรื่องเล่าว่าในอดีต มีผู้พบเห็นม้าสีขาวตัวหนึ่งวิ่งวนรอบพระอุโบสถ จึงเชื่อกันว่าพระศาสดาคงโปรดม้า ใครที่มาบนบานขออะไรที่วัดมักจะประสบความสำเร็จ และงนิยมมาแก้บนด้วยการนำผ้าขาวม้ามาผูกเอวและวิ่งวนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ พร้อมกับส่งเสียงเหมือนม้าร้องไปด้วย เรียกว่า "วิ่งม้า" ค่ะ
ที่อยู่ : แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
เปิดให้เข้าชม : 08.00-18.00 น.
6. วัดคฤหบดี
คติความเชื่อ : เสริมโชควาสนา บารมี ดุจดั่งทอนพคุณ เคียงคู่แก้วมรกต
วัดคฤหบดี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับบ้านปูน เชิงสะพานพระราม 8 ค่ะ เป็นวัดที่ พระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่) ต้นสกุลภมรมนตรี เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ.2367 มี พระพุทธแซกคำ เป็นพระประธานประดิษฐานในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเนื้อทองคำโบราณ ปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปคู่เมืองแห่งราชอาณาจักรล้านนาที่งดงาม
เนื่องจาก เจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นแม่ทัพไปปราบกบฏเวียงจันทน์ ได้จับกุมเจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์เวียงจันทน์มากรุงเทพฯ พร้อมอัญเชิญ พระพุทธแซกคำ นำมาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดคฤหบดีจากนั้นเป็นต้นมาค่ะ การมาไหว้พระที่วัดแห่งนี้ คนไทยเรามีคติความเชื่อที่ว่า "เสริมโชควาสนา บารมี ดุจดั่งทอนพคุณ เคียงคู่แก้วมรกต" นั่นเองค่ะ
ที่อยู่ : ซอยจรัญสนิทวงศ์ 44 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพฯ
เปิดให้เข้าชม : 08.00-18.00 น.
7. วัดราชาธิวาสวิหาร
คติความเชื่อ : มีลาภยศที่ยิ่งใหญ่ ดุจพระราชา
วัดราชาธิวาสวิหาร เป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุต ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดราชาธิวาสวิหาร" มีความหมายว่า “วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา” เป็นวัดแรกที่ถือกำเนิดคณะสงฆ์ ธรรมยุติกนิกายค่ะ โดยมีคติความเชื่อที่เดิมว่า การมาไหว้พระที่วัดแห่งนี้จะทำให้ "มีลาภยศที่ยิ่งใหญ่ ดุจพระราชา"
ภายในวัดโดดเด่นด้วย พระอุโบสถ ซึ่งเป็นทรงขอมคล้าย "นครวัด" ออกแบบโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ มีห้อง 3 ตอนคือ ห้องหน้าเป็นระเบียง ห้องกลางเป็นห้องพิธี มีพระสัมพุทธพรรณีเป็นพระประธาน มีเศวตฉัตร 9 ชั้น ซึ่งได้รับพระราชทางจาก รัชกาลที่ 5 และด้านหลังของพระประธานเป็นซุ้มคูหาค่ะ
นอกจากนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในแสดงเรื่อง พระเวสสันดรชาดก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นผู้ร่างภาพ และ ศ.ซี.ริโกลี (C.Rigoli) จิตรกรชาวอิตาเลียน เป็นผู้เขียนด้วยการใช้สีปูนเปียก (Fresco) ซึ่งมีความสวยงามต่างจากภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดอื่นๆ
ที่อยู่ : แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ
เปิดให้เข้าชม : 08.00-18.00 น.
8. วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร
คติความเชื่อ : มงคลเทพเทวดา มหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่และแข็งแกร่ง
วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่โบราณ เดิมเชื่อ วัดสมอแครง มีมาก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยาเลยทีเดียวค่ะ ต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงยกวัดให้เป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามใหม่แก่วัดว่า "วัดเทวราชกุญชร" ซึ่งแปลว่า "ช้าง" (กุญชร) ของพระอินทร์ (เทวราช)
ในการมาไหว้พระที่วัดนี้มีคติว่า "มงคลเทพเทวดา มหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่และแข็งแกร่ง" ภายในวัดมี พระพุทธเทวราชปฏิมากร เป็นพระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ฝีมือช่างสมัยทวารวดี ประดิษฐานบนฐานชุกชี ค่ะ
พระประธานในพระอุโบสถของวัดเทวราชกุญชรนับว่าแปลกกว่าวัดอื่น เนื่องจากพุทธศาสนิกชนนิยมถวาย "ผ้าไตร" แทนดอกไม้ธูปเทียน ได้สร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่การกราบขอพรพระศักดิ์สิทธิ์องค์นี้เป็นเท่าทวีคูณ และนับเป็นวัดแรกในประเทศไทยที่นำผ้าไตรมาเป็นเครื่องสักการะที่ได้รับความศรัทธาสูงสุดมาจนทุกวันนี้ อีกทั้งภายในมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามและอยู่ในสภาพที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างดี โดยตกแต่งด้วยสีน้ำเงินทะเลงดงาม
อีกทั้งภายในวัดยังเป็นที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์ไม้สักทอง วัดเทวราชกุญชรฯ ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยแบบสถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกส สร้างด้วยไม้สักทอง ตามแบบดั้งเดิมทั้งหลัง ให้ได้ชมกันอีกด้วยค่ะ
ที่อยู่ : ถนนศรีอยุธยา แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพฯ
เปิดให้เข้าชม : 06.00-18.00 น.
เว็บไซต์ : -
9. วัดยานนาวา
คติความเชื่อ : การค้าขาย การทูต เจริญรุ่งเรือง
วัดยานนาวา เดิมชื่อ วัดคอกควาย เนื่องจากมีชาวทวายมาลงหลักปักฐานอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และชาวทวายจะนำกระบือที่เลี้ยงไว้มาทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันนั่นเองค่ะ ต่อมารัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ และสร้าง เรือสำเภาพระเจดีย์ แทนพระสถูปเจดีย์ทั่วไป อีกทั้งด้านในของวัดยังมีพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้าให้สักการะกราบไหว้กันอีกด้วย
การสร้างเรือสำเภาพระเจดีย์นั้นก็เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นรูปแบบเรือสำเภาซึ่งกำลังจะหมดไปจากเมืองไทย จึงได้เปลี่ยนชื่อจากวัดคอกกระบือเป็น "วัดยานนาวา" นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์องค์ใหญ่และเล็กอยู่ในลำสำเภารวม 2 องค์ ที่ห้องบาหลีมีรูปหล่อของพระเวสสันดรกับพระกัญหา บริเวณท้ายเรือ มีรูปหล่อของชาลีประดิษฐานอยู่ อันเนื่องมาจากเนื้อความในมหาชาติคำหลวง นั่นเอง
สำหรับวัดนี้มีคติความเชื่อว่า "การค้าขาย การทูต เจริญรุ่งเรือง" ทำให้บรรดาพ่อค้า แม่ค้า ผู้ทำธุรกิจค้าขาย มากราบไหว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลนั่นเองค่ะ
ที่อยู่ : ถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ
เปิดให้เข้าชม : 07.00-18.00 น.